“คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอเครือซีพีขึ้นเวที SUSTAINABILITY FORUM 2030 เสนอวิสัยทัศน์ Sustainability Mega Trend 2023 เปิด 3 เป้าหมายท้าทาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-การศึกษา-การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เครือฯ ต้องทำให้สำเร็จ ระบุทุกพลังแห่งความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญบรรลุเป้าหมายสู่ความยั่งยืน”

30 พฤศจิกายน 2565

30 พฤศจิกายน 2565 - คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ Sustainability Mega Trend 2023 บนเวทีสัมมนา SUSTAINABILITY FORUM 2023 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ สื่อในเครือเนชั่น กรุ๊ป โดยในงานสัมมนาได้เชิญคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำและองค์กรระหว่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืนที่สอดคล้องกับบริบทของโลก อาทิ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ภายในงานยังมีผู้บริหาร นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน นักวิชาการจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและสื่อมวลชนร่วมฟังกว่า 200 คน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ กล่าวว่า ในปี 2023-2035 โลกจะเผชิญกับความท้าทายที่เป็นเมกะเทรนด์ รวม 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความเหลื่อมล้ำ 2. การเปลี่ยนสู่ดิจิทัลและพลังงาน 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4.ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง 5. โลก 2 ขั้วอำนาจ และ6.การเผชิญในเรื่องสุขภาพและโรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลก ดังนั้น เครือฯ จึงต้องปรับแผนองค์กรให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยได้ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนเมื่อปี 2015 และได้เดินหน้าดำเนินการตามยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งได้ประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนสู่ปี 2030 รวมทั้ง 15 เป้าหมาย ภายใต้ 3 เสาหลักคือ Heart – Health – Home ซึ่งผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้เครือฯ ได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับ 1 ใน 38 ผู้นำองค์กรยั่งยืนระดับโลก UN Global Compact (UNGC) ระดับ LEAD

ซีอีโอเครือซีพี ยังได้กล่าวถึง 3 เป้าหมายที่ท้าทายที่เครือฯ จะต้องขับเคลื่อนให้เป็นผลสำเร็จภายในในปี 2030 คือ 1.เป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนขของผู้บริหารและพนักงานในกลุ่มธุรกิจของเครือฯ ทั่วโลก ต้องวางแนวทางและร่วมมือกันแก้วิกฤตภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ เครือฯ จึงได้ประกาศเป้าหมายนำพาองค์กรสู่การเป็น Net Zero Emission ภายในปี 2050 โดยมีแผนลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้ลดลงทุกปี

ปัจจุบันเครือฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.56 ล้านตันใน scope 1 และ scope2 ซึ่งเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ขณะเดียวกันก็เริ่มดำเนินการใน scope 3 โดยต้องร่วมมือกับคู่ค้าในการหาสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ แม้ว่าเป็นเป้าหมายที่ใหญ่และท้าทายอย่างมาก แต่เครือฯ จะไม่ละความพยายาม โดยได้ตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ลงให้ได้ 25% ในปี 2030 ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญด้านความมั่นคงอาหาร ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายของโลกที่มาจาก 3 ปัจจัยหลักสำคัญคือ ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นความท้าทายที่เป็นอีกประเด็นเร่งด่วนของโลก อย่างไรก็ตาม นับเป็นโอกาสของประเทศไทยในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะประชากรโลกยังต้องการอาหารเพิ่มขึ้นถึง 56% ในปี 2050

คุณศุภชัย ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายที่ 2 ของเครือฯ ที่ได้เร่งดำเนินการตามกรอบของความยั่งยืนคือ สนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะการศึกษาสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นผลสำเร็จ โดยเครือฯ ได้ร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนดำเนินโครงการ CONNEXT ED และผลักดันให้มีการวัดระดับคุณภาพโรงเรียนและมีการกำหนดตัวชี้วัด ปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่ในโครงการมากกว่า 5,100 แห่ง มีครูผู้สอนมากกว่า 61,000 คน และมีนักเรียนร่วมโครงการ 2.31 ล้านคน ทั้งนี้ การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความยั่งยืน เพราะจะเป็นการสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีความตระหนักรู้ และสามารภนำศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกใบนี้ได้

สำหรับในเป้าหมายที่ 3 คือ การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซีอีโอเครือฯ ได้ยกกรณีสบขุ่นโมเดล มาเป็นตัวอย่างในการช่วยฟื้นฟูและสามารถเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้มากขึ้น โดยเครือฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกบอลคอมแพ็ก หรือ GCNT ซึ่งได้ตั้งเป้าฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของไทยให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ในช่วงท้ายของการสัมมนา คุณศุภชัย ได้กล่าวถึงมุมมองของการดำเนินชีวิต โดยกล่าวว่า “ ในชีวิตคนเรามักให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชีวิตและความฝันของเราเสมอ แต่ก็มักจะลืมไปว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตที่ทำให้เกิดความมั่นคง และพลังที่จะช่วยทำความฝันอันยิ่งใหญ่ของเราให้สำเร็จได้จริง คือ รักแท้ (ความเห็นอกเห็นใจ) รักแท้ทำให้เราเห็นและยอมรับในความแตกต่าง เชื่อมเข้ากับความเป็นจริงและทุกสิ่งทุกอย่างได้ ซึ่งรวมถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา”

“แม้ทุกวันนี้ประเด็นด้านความยั่งยืนกำลังเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน หากปราศจากโครงสร้างการขับเคลื่อนและความร่วมมือแบบ PPP รัฐ เอกชน ประชาชน ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่วางไว้ได้ ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้เกิดขึ้นในโลกใบนี้เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต” คุณศุภชัยกล่าวในท้ายที่สุด