ผู้บริหารด้านความยั่งยืนเครือซีพี ตอกย้ำภารกิจท้าทายท่ามกลางวิกฤตโควิด บนเวทีระดับโลก WBCSD ชูจุดยืนองค์กร “การจ้างงานต่อเนื่อง – ความมั่นคงทางอาหาร – การสร้างสุขภาวะที่ดี”

15 กรกฎาคม 2563

ผู้บริหารด้านความยั่งยืนเครือซีพี ตอกย้ำภารกิจท้าทายท่ามกลางวิกฤตโควิด บนเวทีระดับโลก WBCSD ชูจุดยืนองค์กร “การจ้างงานต่อเนื่อง – ความมั่นคงทางอาหาร – การสร้างสุขภาวะที่ดี” ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศชื่นชมเครือซีพีมีกระบวนการจัดการมุ่งรักษางานให้พนักงานอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 –นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นตัวแทนเครือฯ ร่วมงานเสวนาในวาระพิเศษออนไลน์ ระหว่างการประชุมประจำปีของสหประชาชาติเพื่อทบทวนความคืบหน้าของ SDGs หรือ High-level Political Forum on Sustainable Development 2020 จัดโดย World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ร่วมกับ United Nations Department of Economic and Social Affairs (UN DESA)

ทั้งนี้ นายนพปฎล ได้ร่วมเสวนากับผู้บริหารด้านความยั่งยืนของบริษัทระดับโลกหรือ Chief Sustainability Officers for SDGs ในหัวข้อ“Building Back Better: Navigating Business Risks and Opportunities in a Post-COVID World” ประกอบด้วย นางสาวอเล็กซานดร้า แบรนด์ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท ซินเจนทา จำกัดนางสาวแคโรไลน์ รีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันชิฟท์ (องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน) นายอลัน ไนท์ ผู้จัดการทั่วไปด้านความรับผิดชอบองค์กร บริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล จำกัดนางสาวมาร์ติน่า กัวร์นาเชลลี กระทรวงต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ อาร์เจนตินา

ในการนี้ นายนพปฎลกล่าวว่า เครือฯ ได้บรรเทาผลกระทบ และพัฒนาต่อยอดให้เศรษฐกิจและสังคมสามารถเดินต่อไปหลังวิกฤต สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยเครือฯ ได้เผชิญกับความท้าทายสำคัญ 3 ด้านจากวิกฤตครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงในการจ้างงาน เครือฯ ได้ประกาศนโยบายรักษาการจ้างงานและไม่เลิกจ้างพนักงานจำนวนกว่า 360,000 คนทั่วโลก แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เครือฯมีแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพที่สามารถดูแลพนักงานได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างทั้งครอบครัวพนักงานและคู่ค้า ช่วยให้ธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานยังคงขับเคลื่อนไปได้

2. ความมั่นคงทางอาหาร เครือฯ ได้สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคว่าจะมีอาหารเพียงพอกับความต้องการ ในช่วงแรกของการล็อคดาวน์ ผู้บริโภคมีความตื่นตระหนกและกักตุนสินค้า โดยเฉพาะอาหาร ซึ่งหัวใจหลักในการบริหารจัดการของเครือฯ ยังคงวางจำหน่ายอาหารพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเพียงพอแก่ความต้องการของผู้บริโภค และประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพที่่ปลอดภัยได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยหยุดความตื่นตระหนกขณะนั้น นอกจากนี้ เครือฯ ได้ส่งอาหารฟรีให้แก่ผู้ที่สูญเสียรายได้ และผู้ที่ต้องกักตัวเองอยู่บ้าน อีกทั้งยังพัฒนาอาหารพร้อมทานราคาถูกเพื่อช่วยลดค่าครองชีพสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วย

3. สุขภาพและสุขภาวะที่ดี เครือฯ ได้จัดสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์จากปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลและประชาชนทั่วไปแล้วเสร็จภายใน 5 สัปดาห์ มีกำลังผลิต 3 ล้านชิ้นต่อเดือน เพื่อแจกจ่ายให้กับสถานพยาบาลและองค์กรมนุษยธรรมทั่วประเทศ

“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ได้เปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนยุทธศาสตร์อีกครั้ง หลายคนมองว่าวิกฤตนี้เหมือนการซ้อมใหญ่สำหรับวิกฤตใหญ่อื่น ๆ ที่จะตามมา โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราได้เรียนรู้วิธีการรับมือวิกฤตรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ นอกจากการบริจาคสินค้าและเงินแล้ว การทำงานร่วมกันแบบใหม่ได้เกิดขึ้นจากการรวมความคิดและความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และที่สำคัญ การผนึกกำลังต่อจากนี้ต้องเป็นไปในระดับสากลเพื่อให้ประชากรของโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน และก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นายนพปฎลกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ อาทิ ความสำคัญของนวัตกรรมในภาคเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้ที่ดินและสารเคมี รองรับความต้องการอาหารและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญหลังวิกฤตนี้ คือ ประชาคมโลกยังต้องเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้น้อยที่สุด หรือใกล้เคียง Zero Carbon เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และในด้านประเด็นสังคม นางสาวแคโรไลน์ รีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันชิฟท์ ในฐานะองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาโควิด-19 ที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมองว่าภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ นอกจากผู้ถือหุ้น และกล่าวชื่นชมเครือซีพีที่รักษาการจ้างงาน รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย